ภาพบรรยากาศงาน Food Branding and Innovation Forum 2024 ที่จัดขึ้นในวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา
งานนี้ได้รับความสนใจจากเจ้าของธุรกิจด้านอาหารเป็นจำนวนมากที่มาอัปเดตความรู้แนวโน้มการสร้างแบรนด์และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และสามารถนำข้อมูลไปปรับใช้กับธุรกิจได้จริง
โดย Keynote ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารที่มาอัพเดตข้อมูลแนวโน้มการสร้างแบรนด์ของธุรกิจอาหาร, เทรนด์ผู้บริโภคในอนาคต, นวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ และมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจ วันนี้เราจึงขอนำ Key Take away จากงานงานนี้มาฝากกันค่ะ
คุณปรมา ทิพย์ธนทรัพย์ (Director of Baramizi Lab)
โดยประโยคสำคัญ ได้แก่
"ถ้าไม่เห็น Trend การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์อาจหลงทางได้ เพราะ Trend และ Future Insight คือหัวใจสำคัญของการเติบโตของแบรนด์"
อุตสาหกรรมอาหารเป็น อุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง จะเห็นได้ว่าธุรกิจทางด้านนี้ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการขยายตัวของประชากร และเมื่อกาลเวลาเปลี่ยน พฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ จึงสามารถสรุปออกมาเป็น 6 เทรนด์ความต้องการของผู้บริโภค x 10 แนวโน้มธุรกิจอาหารแห่งอนาคต ดังนี้
กินเพื่อสุขภาพดีทั้งกายและใจ ประกอบไปด้วยเทรนด์
Trend 1: Personalized Nutrition เทรนด์อาหารเฉพาะบุคคล การออกแบบโภชนาการสําหรับแต่ละบุคคลเพื่อตอบสนองต่อความแตกต่างให้มากท่ีสุด โดยคํานึงจาก DNA Microbiome เชื้อชาติ เพศ ประวัติสุขภาพ และวิถีการใช้ชีวิต
Trend 2: Well Mental Eating อาหารที่ดีต่อสุขภาพใจ เพราะสมองเราต้องทํางานตลอดเวลา แม้แต่ตอนนอน ดังนั้น สมองต้องการอาหารดีๆ เพื่อสร้างเสริมการทํางานและปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น อาหารที่ไม่ดีย่อมส่งผลร้ายต่อสมองเช่นกัน
.
Trend 3: Fermented Taste of Time ภูมิปัญญาการถนอมอาหาร ด้วยกระบวนการหมักดอง เกิดความซับซ้อนด้านรสชาติ และการเสริมสร้างจุลินทรีย์ที่ดีกับร่างกาย เพราะสมองกับลำไส้เชื่อมต่อกัน ดังนั้นถ้าลำไส้ดีสมองก็ดีไปด้วย
กินเพื่อรับประสบการณ์แปลกใหม่
Trend 4: Extraordinary Meal ประสบการณ์การรับประทานอาหารที่เหนือความคาดหมาย และการข้ามเส้นความธรรมดาไป การทดลองด้วยเมนูสุด พิเศษที่ไม่ธรรมดา เข้าถึงได้ยากเป็นพิเศษ อยู่ในสถานที่ที่เป็นท่ีสุด การทดลองด้วยวัตถุดิบใหม่ๆ หรือ การสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจํา
กินเพื่อเสพเรื่องราวอัตลักษณ์
Trend 5: Through the Root หรือ “รสชาติท้องถิ่น” จากการปรับตัวของร้านอาหารสู่การชูเอกลักษณ์จากของพื้นที่ ผลักดัน soft power และเมนูอาหารของชาติพันธุ์
Trend 6: Alcoholic Journey การเสพอัตลักษณ์เล่าเรื่องผ่านแอลกอฮอล์ที่เป็นวัฒนธรรมร่วมของทั่วโลก เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นจากเครื่องดื่มของพื้นที่นั้นๆ รวมถึงมีคนสนใจเรื่องการดื่มอย่างมีสุขภาพดีมากขึ้น
กินเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โลกดีขึ้น
Trend 7: Food for the world เทรนด์อาหารที่ทำให้บรรลุเป้าหมายของ Carbon Neutrality เทรนด์นี้เกิดขึ้นจากผู้นำโลกให้ความร่วมมือในการพัฒนาในส่วนนี้ ประเทศไทยก็ประกาศว่าจะทำ Net Zero ให้ได้ภายใน 2060
.
Trend 8: Alternative Protein เทรนด์โปรตีนทางเลือก คือโปรตีนที่ไม่ได้มาจากการปศุสัตว์แบบดั้งเดิมเริ่มเข้ามาแทนที่โปรตีนจากเนื้อสัตว์ซึ่งอาจประกอบไป ด้วยโปรตีนจากพืช
สร้างความมั่นใจ ปลอดภัย สะดวกและประสิทธิภาพสูงในการกิน
Trend 9: เป็นที่มาหรือสิ่งที่ช่วยอำนวจความสะดวกในการอาหาร ปฏิวัติวงการอาหารด้วย Food Tech เช่น Smart Kitchen, Supplied จัดการขยะ
.
กินเพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่ดี
Trend 10: เทรนด์อาหารเพื่อความสวยงาม ช่วยบำรุงผิว ผม เล็บ สวยจากภายในสู่ภายนอก
และจากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเห็นได้ชัดว่า ในช่วงวิกฤต Covid-19 ผู้บริโภคทำอาหารกินเองเพิ่มขึ้น เติบโตที่สูงสุดถึง 40.6% ในปี 2021 และมีการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เติบโตที่สูงสุดถึง 32.2% แต่ในปี 2024 พฤติกรรมดังกล่าวมีกลับมีปริมาณลดลง
คุณจุฑามาศ วิศาลสิงห์ประธาน Thailand Gastronomy Network และผู้ก่อตั้งบริษัท Perfect Link Consulting Group
เทรนด์และแนวโน้มศาสตร์อาหารด้าน Gastonomy ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารมีอยู่ 3 เทรนด์ ดังนี้
Food Traceability
เพราะทั้งโลกกำลังร้องขอการตรวจสอบย้อนกลับ และถ้าหากผู้ประกอบการไม่สามารถทำการติดตามสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ ย้อนกลับไปยัง Sustainable Supply Chain, Food Safety, Nutrition, Health & Wellness เพื่อให้ผู้คนตรวจสอบความโปร่งใสได้ อาจจะไม่มีใครมองธุรกิจหรือแบรนด์เราอีกต่อไป เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ทำไม่ได้
Boarderless Cuisine
อาหารไทยแท้ๆ มีหรือไม่ หรือจริงๆ มันคือ x Cuisine เพราะเราเป็นนักผสมผสาน และอาหารไทยกำลังจะเป็น Fine Dinning เพราะคนยอมจ่ายมากกว่าเพื่อทานอาหารไทย นอกจากนี้อาหารไทยยังมีคุณค่าที่มากกว่า เพราะความมหัศจรรย์ของอาหารไทย คือ การที่อาหารเป็นยา เพราะวัตถุดิบท้องถิ่นต่างๆ ล้วนมีสรรพคุณในการรักษา
City of Gastronomy
การบอกเล่าเรื่องราวของอาหารผ่านความเป็นเมืองหรือความเป็นท้องถิ่น กลยุทธ์ที่สำคัญคือ ร้านอาหารควรเกาะติดแบรนด์ DNA ของเมืองไว้ เพราะอาหารในแต่ละเมืองมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นประสบการณ์ที่ได้รับจะสามารถสร้างคุณค่าให้กับอาหารมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนคุณค่าด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย
เพราะฉะนั้นก้าวแรกที่เป็นโอกาสที่ทำแล้วปัง คือ อาหารไทยดึงเรื่องอาหารเป็นยา แล้วมองหาวัตถุดิบที่เป็น Signature ของตัวเองให้ได้ บอกเล่าเรื่องราว และพาไปเที่ยวเมืองต้นตำหรับเพื่อสร้าง Engagement
คุณสุธีรา อาจเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis)
โดยประโยคสำคัญ ได้แก่
ผู้บริโภคให้ความสำคัญด้าน Prevention มากขึ้น ไม่ได้แค่อยู่เพื่อกินอีกต่อไป
สิ่งที่ผู้บริโภค ยุคนี้ให้ความสำคัญ คือ รสชาติ ราคาและความยั่งยืน จึงเกิดเป็นเทรนด์นวัตกรรมด้านอาหารที่สำคัญแห่งปีประกอบไปด้วย 4 เทรนด์หลัก ดังต่อไปนี้
1. เทรนด์การพัฒนาอาหารตามช่วงอายุ
เพราะพฤติกรรมการบริโภคในแต่ละ Gen แตกต่างกัน ดังนั้นอาหารชนิดเดียวที่เหมาะกับทุกช่วงวัยเป็นสิ่งที่หาได้ยาก จึงเหมาะสมที่จะ Personalize ให้กับแต่ละช่วง
Baby Boomer มีการหาข้อมูลด้านอาหารมากขึ้น และมีกำลังทรัพย์พร้อมจ่ายหากพบสิ่งที่เหมาะแก่การรักษาสุขภาพในช่วงวัยของตนเอง
Gen X หรือ เจนแซนด์วิช ที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่ และลูกๆพร้อมกัน ให้ความสำคัญเรื่องการดูแลในเรื่องโรคภัยต่างๆ สนใจในเรื่องของสินค้าที่ให้รายละเอียดชัดเจน
Gen Millenial เป็นเจนที่ให้ความสำคัญกับการเข้าสังคม โดยเฉพาะการสังสรรค์กับเพื่อน อยากสนุกด้วย แต่ไม่อยากดื่มแอลกอฮอล์ หรือเรียกว่าอยากเมาทิพย์ ดังนั้นเครื่องดื่ม Non-Alcohol จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการกับคนกลุ่มนี้
Gen Z เป็นเจนที่ทันสมัย เริ่มสนใจเรื่องแบรนด์น้อยลง แต่สนใจเรื่องคุณภาพ
Gen Alpha เป็นเจนที่ช่างเลือกมาขึ้น และมี voice ในครอบครัวมากขึ้น รับสารต่างๆจากช่องทางออนไลน์มากขึ้น จึงมีผลกระทบต่อการซื้อสินค้า
2. กินเพื่อสุขภาพดีทั้งกายใจ
เพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญด้าน Prevention มากขึ้น ไม่ได้แค่อยู่เพื่อกินแล้ว เนื่องจากหลังจากเกิด Covid-19 คนเริ่มสนใจเรื่อง Immunity มากขึ้น สนใจเรื่องรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ
Healthy Aging หรืออาหารทำหรับคนทุกช่วงวัย เช่น วัยเด็กอาหารพัฒนาสมอง วัยรุ่นอาหารที่เพิ่มพลังงาน
Mental Health เป็นอีกเรื่องที่คนให้ความสำคัญ จึงมีผลิตภัณฑ์ที่ปรับสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย ส่งผลต่ออารมณ์ และสารในสมอง
De-caffeine หรือ Zero Caffeine เพื่อทำให้นอนหลับง่ายขึ้น เช่น ชาคาโมมายล์ ที่ช่วยในเรื่องการผ่อนคลาย และลดอาการวิตกกังวล
Hydration หรือการให้ความสำคัญกับสมดุลของน้ำในร่างกาย, น้ำรักษาสมดุลของ PH, เครื่องดื่ม Non-Alcohol, Sparkling Water กลิ่นผลไม้ต่างๆ
3. Plant Based ยังมีการเติบโตอยู่ โดยทวีปที่คนให้ความสำคัญ คือ ยุโรป และกลุ่มที่เติบโตมากที่สุดคือ กลุ่ม Dairy เพราะคนมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว เช่น น้ำเต้าหู้ Lactose Free, Plant Based ชีส, Conflectionary ขนมต่างๆ เพราะผู้บริโภคที่แพ้นมวัวมีจำนวนค่อนข้างมาก
4. Frozen Food เพราะผู้บริโภคหลายคนคิดว่า อาหารที่ผ่านหลาย Process มีความอันตราย ดังนั้นถือได้ว่าเป็นโอกาสของอาหารกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีในการแช่แข็ง เนื่องจากกระบวนการผลิตค่อยข้างน้อย ดังนั้นจึงปลอดภัยกว่า นอกจากนี้ยังคงในเรื่องของคุณภาพ และ Nutrition เพราะหลังจากละลายน้ำแข็ง ก็ยังมีความสดใหม่อยู่
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคตามเทรนด์ยังไม่ใช่ Piority หมายถึง ผู้บริโภคเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว ถ้าเลือกได้ก็อยากซื้อ แต่ยังคำนึงเรื่องของราคาเป็นความสำคัญมากกว่า
ผศ.ดร. เยาวภา หล่อเจริญผล Flavor Academy มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยประโยคสำคัญ ได้แก่
Flavor is King ก่อให้เกิดความสมดุลทางด้านอาหาร ที่จะทำให้ Healthy และ Happy มากยิ่งขึ้น
ทำไม Flavor ถึงสำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะเรื่องของรสชาติอาหารเป็นอันดับ 1 ของการเลือกซื้ออาหาร ดังนั้น นวัตกรรมการออกแบบกลิ่น รส เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ Flavor เป็นเรื่องของ Multi-sensory experience และเป็นจุดที่จะทำให้เกิดความสนุกทางด้านอาหาร
F&B Flavor Trend ประกอบไปด้วย 4C ดังนี้
Care & Concern
สารสกัดที่มาจากธรรมชาติ รวมถึงมีการคำนึงถึง Sustainability Combination โดยเฉพาะในปีนี้กลิ่นรสที่ออกใหม่ๆ 1 ใน 3 มีกลิ่น Citus (ส้มส้ม) แต่ตอนนี้ผลผลิตส้มลดลง เนื่องจากเกิดโรคระบาดกับแหล่งผลิตรายใหญ่ ดังนั้นจึงต้องหาสารที่ให้กลิ่นรสทดแทน หรือ กลิ่นรส ที่ช่วยในเรื่องของ Muti-Function ทั้ง Immune support, Mental wellness, Better Sleep
Combination & Coziness
การผสมผสานทั้งทางด้านวัตถุดิบ และวัฒนธรรม เช่น Sweet + Spicy = Swicy คือ การผสมผสานกลิ่นรสหวานและรสเผ็ด เพราะรสชาติที่มาแรงมาก คือ รสเผ็ด เนื่องจากได้รับประสบการณ์ที่ตื่นเต้น
Customer Engagement
การใส่กลิ่น สามารถเพิ่ม หรือลดรสชาติของอาหารได้ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างประสบการณ์กับ Consumer ได้รู้สึกสนุกไปกับการออกแบบรสชาติของตัวเองมากยิ่งขึ้น
Cutting Age Technology
เทคโนโลยีในการตัดแต่งรส หรือการออกแบบรสชาติใหม่ๆ เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เป้าหมายหลักคือเพื่อ ควบคุมรสชาติ ของผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ เช่น Process Alteration, Gene Editing, Cell Culture, Ai Creation
ดังนั้น Flavor Innovation เกิดขึ้นมา เพราะเราไม่ได้กินอาหารเฉพาะปาก แต่เราใช้ตาและจมูกในการเพิ่มรสชาติการกินด้วย
คุณธนพงศ์ วงศ์ชินศรี
ผู้ก่อตั้งเพจ Tor penguin สื่อด้านธุรกิจร้านอาหารที่มาแรงในยุคนี้
โดยประโยคสำคัญ ได้แก่
Average is Over ชีวิตธุรกิจร้านอาหารไม่มีค่ากลางอีกต่อไป ถ้าคุณไม่เปลี่ยน คู่แข่งจำนวนมากอาจจะล้มคุณได้ตลอดเวลา
คนตัวเล็ก(ธุรกิจเล็ก) ในประเทศไทยที่เก่งเยอะมาก แต่หลายๆ ครั้งก็ถูกมองข้าม ซึ่งเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่จริงๆ ทำแทบทุกอย่าง จึงเหนื่อยมากกว่าธุรกิจใหญ่ และปัจจุบันยังมี Tech มาให้เป็นงานเพิ่ม แต่เรามีเวลา 24 ชั่วโมงเหมือนเดิม ฉะนั้นเราต้องไม่ทำทุกอย่าง แต่เลือกทำบางอย่างพอ
Restaurant Challenges : การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่มีจำนวนมาก
ต้นทุนเพิ่ม (ค่าเช่า/ค่าวัตถุดิบ/ค่าแรง)
Concern : สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค
ดังนั้น พฤติกรรมคนเปลี่ยน การออกแบบร้านเปลี่ยน ประสบการณ์เปลี่ยน
Restaurant Business Trend 2024
ขนาดร้านเล็กลง แต่ต้องมีสไตล์มากขึ้น
- เพราะหากขนาดร้านใหญ่ขึ้น ต้นทุนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ธุรกิจเล็กไม่เป็นไร หากทำตัวตนให้ชัดก็สามารถเติบโตได้
เมนูธรรมดาๆ แต่ต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
- จริงๆ แล้วทุกคนล้วนกินอาหารธรรมดาบ่อยกว่าอาหารที่เป็นเมนูพิเศษ อาทิ ข้าวกะเพรา หรือก๋วยเตี๋ยว แต่หากธรรมดาเกินก็อาจไม่เป็นที่จดจำ เพราะฉะนั้นต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวากิวออสเตรเลีย นอกจากนี้อาหารธรรมดาๆ บางอย่าง แค่เปลี่ยน Target จากซื้อเพื่อกิน เป็นซื้อเพื่อฝากก็เพิ่มมูลค่าได้
การบริการน้อยลง แต่ต้องมีประสบการณ์ที่ดีขึ้น
- การออกแบบประสบการณ์ร้านอาหารที่ทำให้ลดเวลาเรียกพนักงาน เพื่อลดความยุ่งยาก การเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ มาเพิ่มเวลาในการรับประทานอาหารมาก หรือการใช้ชีวิต
ตอบโจทย์วิถีชีวิต แต่ต้องอวดเพื่อนได้
- เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนสามารถเป็น Content Creator ได้ ดังนั้นร้านอาหารที่เป็นร้านที่สามารถกินได้บ่อยๆ แต่ต้องมี gimmick บางอย่างที่สามารถถ่ายคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดียได้
ร้านต้องดีต่อโลก แต่ราคาห้ามสูงขึ้น
- พฤติกรรมของผู้บริโภค คือ เน้นเข้าร้านอาหารที่มีความ Sustainable หากร้านไหนไม่ดีต่อโลกจะถูกผลักไปเป็นตัวเลือกสำรอง แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคก็ต้องการจ่ายในราคาที่เท่ากับร้านทั่วไป
เน้นระบบมากกว่าคน แต่คนก็ไม่ใช่ไม่สำคัญ
- ปัจจุบันมีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย support ให้เกิดระบบที่ง่ายและสะดวกในการทำงานมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงว่าระบบจะมาแทนพนักงาน และพนักงานเองก็ต้องมีการพัฒนาตนเองให้สามารถใช้งานระบบได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อพัฒนาประสบการณ์ร้านอาหารให้ดียิ่งกว่าเดิม
เปลี่ยนจากการขายอาหาร เป็นการขายคอนเทนต์
- เห็นได้ชัดว่าบางแบรนด์มีการปรับใช้โซเชียลมีเดียมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการโปรโมทร้านอาหาร จนสามารถดึงลูกค้าให้มาที่ร้านได้ เพราะลูกต้องการที่จะสร้างคอนเทนต์มากกว่ามารับประทานอาหารเฉยๆ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสการเติบโต
เปลี่ยนลูกค้า เป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ
- การเปลี่ยนให้ลูกค้าที่ชื่นชอบการรับประทานอาหาร สร้างคอนเทนต์ด้วยตัวเอง พร้อมช่วยแชร์ และได้รับค่าตอบแทนจากการโปรโมท (Affiliate Program)
คุณจุลเกียรติ สินชัยชูเกียรติ
(Founder & CEO of Baramizi innovative Group)
จากการศึกษาภาพรวมการสร้างแบรนด์กลุ่มธุรกิจอาหารทั่วโลก สามารถสรุปเป็น 7 เทรนด์กลยุทธ์ ดังนี้
1. Sincere Storytelling : การนำเสนอเรื่องราวของแบรนด์อย่างจริงใจ โปร่งใส และตรงไปตรงมา โดยมุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวที่แท้จริง ไม่ปรุงแต่ง ซึ่งจะเป็นการสร้างความไว้วางใจ ความรู้สึกเชื่อมโยง และสร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้าในการสนับสนุนแบรนด์มากขึ้น
2. Superfans Society : การสร้างชุมชน (Community) เฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับ Superfans พร้อมทั้งนำเสนอประสบการณ์พิเศษที่แตกต่างกว่าลูกค้าทั่วไป เพื่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้ากลุ่มนี้อยู่เสมอ
3.Extraordinary Experience : การสร้างประสบการณ์เหนือความคาดหมาย ทำให้ลูกค้ารู้สึกดื่มด่ำกับการสัมผัสประสบการณ์แบรนด์ จนกลายเป็นช่วงเวลาสุดแสนพิเศษและน่าจดจำ
4.Cultural Fusion : การนำเอาองค์ประกอบทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญมารวมเข้ากับการออกแบบประสบการณ์แบรนด์ (Brand Experience) เพื่อทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำและอยู่ในใจของลูกค้า (Top of Mind)
5. Guarantee Driven : การได้รับรางวัลหรือการรับรองเพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและความโดดเด่นของร้านอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารนั้น ๆ ในสาธารณะ สามารถช่วยเสริมสร้างความน่าสนใจและเพิ่มความได้รับการยอมรับจากลูกค้าได้
6.Lifestyle Essential : การออกแบบประสบการณ์แบรนด์ที่สามารถตอบสนองต่อวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้ความสะดวกสบาย ตลอดไปจนถึงค่านิยมทางสังคมของลูกค้าได้
7.Fast Adapter : ความพร้อมในการรับมือ ปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เมื่อแบรนด์ต้องเผชิญกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง หรือกระทั่งกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์
และสำหรับใครที่พลาดงานนี้ไป รอติดตามให้ดีนะคะ ปีนี้เราจะมีงานสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจของคุณพัฒนามากขึ้นอย่างแน่นอน แล้วพบกันนะคะ